โรคกระเพาะ เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อย ประมาณว่าคนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคกระเพาะในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยการเกิดแผลในกระเพาะมักจะพบในวัยกลางคน ในขณะที่การเกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นจะพบในวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตามการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศและทุกวัย

สาเหตุการเกิดโรคกระเพาะ

เกิดจากการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป งทำให้เกิดแผลขึ้น และพบว่าปัจจุบันก็ยังมีปัยจัยเสริมอื่นๆที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะได้อีก  ได้แก่

การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor Pylori)

 ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ผนังกระเพาะจึงอ่อนแอลงและมีความทนต่อกรดลดลง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดแผลได้ง่าย แผลหายช้า และเกิดแผลซ้ำได้อีก

รับประทานสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้

เช่น ดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ ยาชุดหรือยาที่มีสเตียรอยด์ เป็นต้น

การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง

เช่น การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ รับประทานไม่เป็นเวลาหรืออดอาหารบางมื้อ เป็นต้น

การสูบบุหรี่

ก็สามารถเพิ่มโอกาสของการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นได้เช่นกัน

อาการอื่นๆ

เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ เครียด อารมณ์หงุดหงิด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระเพาะ

  1. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา เพื่องป้องการการเกิดโรคกระเพาะ
  2. รับประทานอาหารอ่อนที่สามารถย่อยได้ง่าย และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
  3. ควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาที่มีสเตียรอยด์ น้ำอัดลม อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อคโกแลต ชา กาแฟ เป็นต้น
  4. งดการสูบบุหรี่ จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคกระเพาะ
  5. อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อไม่ควรมีปริมาณมากหรือน้อยเกินไป
  6. ถ้าเกิดความเครียด พยายามลดความเครียด ด้วยการดูหนัง ฟังเพลง ทำสมาธิ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  7. หมั่นออกกำลังกาย
  8. รับประทานยาลดกรด ที่เป็นยาน้ำ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ หรือยาเม็ด 1 – 2 เม็ด (เคี้ยวก่อนกลืน) วันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็นหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน ในกรณีที่มีอาการปวดท้องก่อนเวลายาสามารถรับประทานเพิ่มได้และควรรับประทานยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 4 – 8 สัปดาห์
  9. ในกรณีที่รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน และรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ